Home History
Fund for Classical Music Promotion History

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงสนพระทัยดนตรีคลาสสิกมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงมีพระดำริว่า ประเทศไทยมีศิลปินดนตรีคลาสสิกที่มีความสามารถอยู่ไม่น้อย และเยาวชนไทยที่สนใจศึกษาดนตรีคลาสสิกก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่ผู้ที่สนใจให้ความสนับสนุนไม่มากนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย ในแพ.ศ.2543 จึงได้พระราชทานทุนทรัพย์จัดตั้ง "กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน" ขึ้นโดยให้คณะกรรมการส่วนหนึ่งของ Bangkok Symphony Orchestra (BSO) ดูแล

ในระยะต่อมา ได้ปรากฏว่าศิลปินดนตรีคลาสสิกที่ควรจะได้รับความสนับสนุนมิได้มีเพียงแต่เยาวชนเท่านั้น หากมีความหลากหลายทางด้านอายุ และความสามารถในด้านต่างๆ อาทิ นักประพันธ์เพลง ศิลปินผู้ปฏิบัติเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ อีกทั้งความต้องการการสนับสนุนก็แตกต่างกัน บ้างต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับต่างๆ บ้างต้องการไปรับการอบรมระยะสั้นในต่างประเทศ เป็นต้น

ในปีพ.ศ. 2547 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงได้ทรงเปลี่ยนแปลง "กองทุนเพื่อส่งเสริมการศึกษาดนตรีของเยาวชน" เป็น "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" เพื่อให้ขอบเขตความสนับสนุนกว้างขวางขึ้น และยืดหยุ่นได้ นอกจากนี้ยังทรงรับเป็นองค์ประธาน และองค์อุปถัมภ์ของ "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" นี้ด้วย

คณะกรรมการฯ "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" ในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมกิจกรรมดนตรีคลาสสิกตะวันตกให้แพร่หลายในประเทศไทย และส่งเสริมศิลปินที่มีความสามารถ ให้ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตน ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมการแสดงดนตรีระดับนานาชาติ เข้าแข่งขันการแสดง เข้าค่ายอบรมระยะสั้น ตลอดจนการไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยมีนโยบายให้การสนับสนุนด้วยทุนบางส่วน และเปิดโอกาสให้องค์กรหรือบุคคลที่สนใจดนตรีคลาสสิกเข้าร่วมสนับสนุน นอกจากนี้ในบางโอกาส "ทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิก" ในพระอุปถัมภ์ฯ ก็ยังจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น กานแสดงดนตรี การจำหน่ายของที่ระลึก เพื่อเป็นการเพิ่มทุนด้วย